ตั้งแต่สมัยเรียนแม้เราจะทราบกันดีว่าเมืองหลวงของประเทศไทยตั้งแต่เดิมนั้นถูกเปลี่ยนแปลงด้วยกันทั้งหมด 4 ครั้ง เริ่มต้นจากสมัยกรุงสุโขทัยต่อมาก็กลายเป็นกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี กระทั่งปัจจุบันที่เราเรียกกันว่ายุคของกรุงรัตนโกสินทร์ ทว่าหากมีการศึกษารายละเอียดให้ลึกลงไปแล้วจะเห็นว่าการปกครองในช่วงแต่ละสมัยก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเช่นเดียวกัน ซึ่งลองมาทำความเข้าใจกับประวัติศาสตร์การปกครองของไทยแต่ละยุคว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง
ทำความเข้าใจกับประวัติศาสตร์การปกครองของประเทศไทย
ยุคเริ่มต้นตามการจารึกที่สามารถค้นพบได้ของประเทศไทยเริ่มต้นตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย การเมืองการปกครองยุคนี้เริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ.1781 – 1921 มีการแบ่งระบอบการปกครองออกเป็น 3 ยุค ยุคแรกเรียกว่า ยุคพ่อปกครองลูก จะมีคำว่า พ่อขุน นำหน้า มีพลเมืองน้อย ปกครองง่าย ชาวบ้านใกล้ชิดกับกษัตริย์ ยุคกลางเป็นการปกครองแบบจักรพรรดิ จะมีคำว่า พญา นำหน้า ประชากรเพิ่มขึ้น กษัตริย์มีอำนาจเด็ดขาด ส่วนยุคปลายเป็นการปกครองแบบธรรมราชา มีคำ พระมหาธรรมราชา เป็นคำนำหน้า ใช้หลักทศพิธราชธรรมในการปกครอง ต่อมาเมื่อเข้าสู่ยุคกรุงศรีอยุธยา ได้มีการรับเอาความคิดเกี่ยวกับองค์เทพมาใช้ กษัตริย์เปรียบได้กับสมมุติเทพ เพราะฉะนั้นต้องฟังคำสั่งของผู้ที่ปกครองอย่างไม่มีเงื่อนไข รูปแบบการปกครองสมัยอยุธยาจะมีการปกครองส่วนกลาง จตุสดมภ์ 4 กรมคือ เวียง วัง คลัง นา จากนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดไปตามความพึงพอใจของช่วงกษัตริย์แต่ละพระองค์แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้กษัตริย์ก็ยังคงเป็นใหญ่ที่สุดในการปกครองยุคสมัยนี้ เช่นเดียวกับยุคสมัยของกรุงธนบุรีที่มีสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียวในยุคนี้ก็ยังคงใช้การปกครองตามแบบของกรุงศรีอยุธยา เมื่อก้าวเข้ามาสู่ยุคกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ช่วงรัชกาลที่ 1 – 4 ก็ยังคงยึดรูปแบบการปกครองสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นหลัก กระทั่งมีการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของโลกและการรุกรานของประเทศมหาอำนาจที่ต้องการล่าอาณานิคม มีการปฏิรูปการปกครองเป็น 3 ส่วนคือ ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น มีการจัดตั้งกระทรวงต่างๆ
กระทั่งมาถึงช่วงยุคการเปลี่ยนแปลงเป็นระบอบประชาธิปไตยมีคณะก่อการคือ คณะราษฎร ทำการก่อการในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 สาเหตุก็มาจากเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และอิทธิพลภายนอก คณะราษฎรได้จัดตั้งรัฐบาลมีพระยามโนปกรณ์กิติ เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก ประกาศใช้รัฐธรรมนูญในการปกครองสยามประเทศชั่วคราวเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ก่อนจะมีการพระราชทานรัฐธรรมนูญถาวรในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 จากสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ส่งผลให้ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา